สำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จึงมีความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จึงได้ติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และได้นำมาตรการบรรเทาปัญหาเลิกจ้าง ของกระทรวงแรงงานมาเป็นแนวทางการดำเนินงานในการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนายจ้างลูกจ้างผู้ประกันตน ดังนี้
ลดค่าครองชีพของลูกจ้าง และผู้ว่างงาน
ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและมีเวลาในการหางานเพิ่มขึ้น โดยมีเงินชดเชยการว่างงานที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมเพียงพอสำหรับดูแลตนเอง และครอบครัวได้ในระยะหนึ่ง รวมทั้งได้ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ได้แก่
- การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน โดยในไตรมาสแรกของปี 2552 สำนักงานประกันสังคมได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้กับผู้ประกันตนทั่วประเทศแล้ว โดยเฉลี่ยจำนวน 122,071 ราย เป็นเงินรวมจำนวน 931,555,795.24 บาท
- การขยายเวลารับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน โดย ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานฯ จากเดิม 180 วัน หรือ 6 เดือน เป็น 240 วัน หรือ 8 เดือน เพื่อคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2552 ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับผู้ประกันตนที่สมัครใจลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้างไว้แน่นอนจะได้รับสิทธิเท่าเดิม
- โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐในส่วนของผู้ประกันตน (เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดสรรเงินงบประมาณของรัฐบาล ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท เป็นเงินคนละ 2,000 บาท สำนักงานประกันสังคม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวให้แก่ผู้ประกันตน โดย ณ วันนี้ ได้จ่ายเช็คช่วยชาติ ให้กับผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเช็คช่วยชาติแล้วกว่า 6,473,358 ฉบับ
ลดการเลิกจ้าง
เพื่อคงการจ้างงานให้กับผู้ประกันตน และเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ทางสำนักงานประกันสังคม จึงได้นำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ไปลงทุนฝากกับธนาคาร โดยได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าตลาด เพื่อให้ธนาคารสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ แก่ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง หรือออกจากงาน รวมทั้งสถานประกอบการให้มีเงินทุนหมุนเวียนรักษาสภาพการจ้างงาน โดยเงินจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- โครงการกู้วิกฤตแรงงานไทยคืนถิ่น นำเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท ไปฝากที่ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง หรือ ออกจากงานเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ ให้มีแหล่งเงินกู้ นำไปใช้เป็นทุนประกอบอาชีพอิสระและพัฒนาอาชีพต่อไป
- โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน นำเงินจำนวน 6,000 ล้านบาท ไปฝากที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (ธวพ.) เพื่อปล่อยกู้ให้กับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกู้เงินจากเงินฝากดังกล่าวจะต้องไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างที่ยังกู้เงินนี้อยู่ ช่วยให้สถานประกอบการมีทุนหมุนเวียน สามารถนำไปดำเนินธุรกิจรักษาสภาพการจ้างงาน ชะลอการเลิกจ้าง
ทั้งนี้ ทางสำนักงานประกันสังคมจะมีการประเมินผลทุกระยะ 6 เดือนหากไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์ก็จะพิจารณาหากลยุทธ์แก้ไขปรับปรุงแผนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
และขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้มีมติให้ลดเงินสมทบให้กับลูกจ้าง นายจ้าง จำนวนร้อยละ 2 คือ จากเดิมที่เคยจ่ายร้อยละ 5 เหลือเพียงร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะไม่หยุดนิ่งในการดูแลให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตนอย่างแน่นอนและหวังว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ต่อไปอย่างดี
--------------------------------------------------------