วิกฤตแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังเป็น
ปัญหาอยู่พอสมควร จนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้ภาครัฐจะมี
มาตราการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือ แต่กระนั้นไม่ได้ทำให้
ภาวะการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในส่วนของ
แรงงานทักษะเข้าไปเติมเต็มในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้
ผลเช่นนี้ จึงทำให้กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย ทำการสำรวจภาพรวมตลาดแรงงานไทยในปี 2556
และแนวโน้มของตลาดแรงงานในปี 2557 โดยมี "ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์" ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-ไทย
และเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย บอกว่า เราทำการศึกษาพบจำนวนผู้ว่างงาน
ในเดือนกันยายน 2556 มีทั้งสิ้น 264,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.7%
"ทั้งนั้น อาจมีผลจากการชะลอการจ้างงานใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ
ระดับปริญญาตรี 15,000 บาท จึงทำให้ภาคเอกชนต้องปรับเงินเดือนตามไปด้วย ตรงนี้ส่งผลให้แรงงานใหม่
ที่หางานไม่ได้ หรือต้องการอิสระหันไปประกอบธุรกิจส่วนตัว รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก
เริ่มมีการพิจารณาการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศพม่าที่มีอัตราค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับต่ำ"
"ส่วนแรงงานฝีมือสำหรับอุตสาหกรรมไทย เริ่มมีการไหลมาจากมาเลเซีย และอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ภาวะว่างงานและสภาพตลาดการขาดแคลนแรงงานจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย"
"ธิดารัตน์" กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลปี 2556 ของบริษัทอเด็คโก้พบว่าสายงานที่มีการจ้างงาน
และหาคนมากที่สุดในตลาดแรงงาน อันดับ 1 ถึง 5 คือสายงานวิศวกรรม, งานขาย,
บัญชี, ธุรการ และไอที
"ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มองหาคนมาทำงานมากที่สุด คือกลุ่มยานยนต์, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์,
กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง
ขณะที่ตำแหน่งที่คนทำงานมองหามากที่สุด คือการตลาด, วิศวกรรม, ไอที, งานขาย และธุรการ"
ด้าน "เอียน กรันดี้" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อเด็คโก้เอเชีย
กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในเอเชียปี 2556 ว่า อัตราการว่างงานในปี 2556 สูงเป็นประวัติการณ์
และคาดว่าอัตราคนว่างงานจะมากถึง 6% ไปจนถึงปี 2560

"ส่วนอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของเอเชียสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5
ในปี 2556 ได้แก่ งานขาย, วิศวกรรมทุกสาขา, บัญชีและการเงิน, นักวิจัย (R&D),
พนักงานออฟฟิศ (ฝ่ายสนับสนุน)"
"ปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และคาบสมุทรแปซิฟิก คือการขาดแคลนผู้สมัครงาน (ข้อมูลของ Deloitte และ PWC)
โดยพบว่า 3 ใน 10 ของนายจ้างในเอเชียหาบุคลากรไม่ได้ เพราะผู้สมัครงานมีความสามารถไม่ตรงตามต้องการ
โดยเฉพาะญี่ปุ่นพบอุปสรรคในการหาบุคลากรมากที่สุด รองลงมาคือเวียดนาม, ไทย, ฮ่องกง, มาเลเซีย,
สิงคโปร์, ไต้หวัน และจีนตามลำดับ"
ฉะนั้น จะเห็นว่าแนวโน้มต่อไปในอนาคตเรื่องของการขาดแคลนแรงงานในปี 2557 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560
คงยังเป็นวิกฤตปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ พึงตระหนัก ขณะที่แรงงานทักษะฝีมือ
เริ่มมีประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มเข้ามาแข่งขัน
ประกอบกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทย กับประเทศในอาเซียนยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร
จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ คงต้องดิ้นหนีตายด้วยการจับมือกับภาคอาชีวศึกษา
หรือแรงงานจังหวัด เพื่อควานหาแรงงานในส่วนที่ขาดมาช่วยเติมเต็ม
หากไม่เช่นนั้น วิกฤตแรงงานไทยคงจะต้องเข้าไอซียูกันหมดแน่ !

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1386908315
|