สมัยก่อนการจะลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่าง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการเล็งทำเล ลงทุนใช้ทีมงานสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่ ทำอาร์แอนด์ดี หรือวิจัยและพัฒนาอย่างหนัก
แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กรุนแรงและทรงอิทธิพล การตลาดในยุคโกลบอลไลซ์จึงต้องพ่วงวิธีนี้เข้าไปด้วย
"แฟนเพจในเฟซบุ๊ก" ของหลายสินค้าจึงเกิดขึ้นก่อนที่จะเข้ามาเปิดตลาดด้วยซ้ำ
เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มแฟชั่น ที่ปีนี้นับว่าเป็นปีทองที่มีแบรนด์ดังของโลกเข้ามาเปิดร้าน สวนกระแสเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่ว่าพุ่ง
ดังจะเห็นได้จากการมาปักหลักในไทยของยักษ์ใหญ่อย่าง "ยูนิโคล่" และ "เอชแอนด์เอ็ม" ที่มีอะไรคล้าย ๆ กัน
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระแสก่อนการเปิดร้านจริงด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ โดยยูนิโคล่ใช้สื่อนอกบ้านเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผู้คนเห็น อาทิ แรปรถตุ๊กตุ๊กให้วิ่งวนไปทั่วกรุง, สร้างกล่องขนาดใหญ่ตามจุดต่าง ๆ ของเมืองให้คนได้ถ่ายรูปไปโชว์กัน ฯลฯ ขณะที่เอชแอนด์เอ็มใช้การเปิดสตูดิโอให้สื่อนิตยสารเข้าไปหยิบยืมสินค้าไป ถ่ายภาพให้เหล่าแฟชั่นนิสต้าได้เห็นและมีความอยากครอบครอง
รวมถึงการสร้างกระแสใน "เฟซบุ๊ก" ที่บอกเล่าความเคลื่อนไหว เร้าใจให้ผู้คนติดตามอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อ "ให้คนได้เห็นมากที่สุด" และ "ให้คนติดตามอย่างต่อเนื่องที่สุด"
จำนวนแฟนเพจอาจสะท้อนได้ถึงปริมาณความน่าสนใจของแบรนด์ที่คนไทยมอง และอาจประมาณการกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้จากผู้เข้ามาในแฟนเพจ
ทั้งยังเป็นตัวช่วยสร้างความมั่นใจในวันเปิดร้านได้ว่า กระแสเหล่านี้จะส่งให้วันตัดริบบิ้น กระแสข่าว กระแสคนที่จะแห่มา...ไม่แป้ก !
เช่นนั้นจึงเห็นสองแบรนด์ทุ่มจัดงานใหญ่แบบจุดพลุเปรี้ยงปร้าง ทั้งเซเลบริตี้ จำนวนคนร่วมงานระดับวีไอพี ที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากตกเทรนด์
น่า สนใจคือการใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ นำมาซึ่งจำนวนลูกค้าตัวจริงที่อยากซื้อ อยากได้สินค้าเป็นคนแรก ๆ ของประเทศที่แห่มาเข้าคิวก่อนเปิดร้าน ยืนรอ นั่งรอ นอนรอ ก่อนเข้าไปช็อปปิ้งอย่างสบายใจ
เป็นการวัดเรตติ้ง ที่ว่าไปแล้วเกิดความคลาดเคลื่อนน้อย !!!
"พาร์ ดาร์จ" ผู้ดูแลด้านการลงทุนและธุรกิจแฟรนไชส์ บริษัท เอชแอนด์เอ็ม ยอมรับว่า สิ่งหนึ่งที่ช่วยสะท้อนความต้องการแบรนด์ของคนไทยได้ดีมาก ๆ จนนำมาสู่การขยายสาขามายังประเทศไทยก็คือ
"กระแสแฟนเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าชมกว่า 1 แสนคน"
นอกจากกลุ่มแฟชั่นแล้ว กลุ่มของธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ก็มีวิธีการสร้างกระแส วัดเรตติ้งที่น่าสนใจคล้าย ๆ กัน
"ละครหลังข่าวของช่อง 3" มีการวางกลยุทธ์ที่เฟี้ยวฟ้าวน่าดู โดยใช้สื่อในมือตัวเองเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างกระแสทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งคือช่องทางในเฟซบุ๊กที่ใช้ในการวัดเรตติ้งได้อย่างเริ่ดสุด ๆ เรยาในดอกส้มสีทอง ที่สร้างกระแสแรงทั่วทั้งเมืองและ ล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันก็คือ "แรงเงา" ละครหลังข่าววันจันทร์-อังคาร ที่ออนแอร์ พร้อมออนไลน์คอมเมนต์แสดงความคิดเห็น ก่นด่าตัวละครในเรื่องอย่างเมามัน สเตตัสในเฟซบุ๊กของหลายคนในช่วงเวลาละครลงจอมีแต่คอมเมนต์ และคอมเมนต์อย่างดุเด็ดเผ็ดมันตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงกว่าที่ละครออนแอร์
กระแส ในโซเชียลเน็ตเวิร์กนี่แหละ คือเรตติ้งสำคัญที่ช่อง 3 มองเป็นเรตติ้งของความเป็นจริงที่มาจากผู้ดูจริง ลูกค้าตัวจริงเสียงจริง ที่วิพากษ์กันทั่วเมือง และเป็นคนเมืองที่มีกำลังซื้อ ใช้อินเทอร์เน็ต ติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก ถือสมาร์ทโฟน ทำให้บรรดาสินค้าที่เข้ามาซื้อโฆษณามองเห็นกลุ่มเป้าหมายชัดเจน
ไม่แปลกหรอกที่ "ประวิทย์ มาลีนนท์" จะเคยหมางเมินกับตัวเลขการวัดเรตติ้งในกระดาษที่ส่งมา เพราะเมื่อกระแสในเฟซบุ๊กมันฟ้อง และยังลงทุนเดินสำรวจให้เห็นกับตาตัวเอง
"เขาจึงเชื่อในสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็นมากกว่า" ซึ่งสวนทางกับตัวเลขธุรกิจยุคนี้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหน ๆ ต่างก็ขอความเชื่อมั่นจากสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น
ถ้าใช่และโดนใจ "ลูกค้า" นั่นถึงจะเรียกว่า "ตอบโจทย์" และนำมาซึ่งการต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกเพียบ
ที่มา : http://www.prachachat.net/
|